Cloud
เมฆระดับกลาง (Medium Clouds)
เมฆอัลโตคิวมูลัส (Altocumulus)
มีลักษณะอยู่เป็นกลุ่มๆ คล้ายฝูงแกะ มีสีขาว บางครั้งสีเทา มีการจัดตัวเป็นแถวๆ หรือเป็นคลื่น เป็นชั้นๆ มีเงาเมฆ มีลักษณะเป็นเกล็ดเป็นก้อนม้วนตัว (roll) อาจมี 2 ชั้น หรือมากกว่านั้น อาจมีแสงทรงกลด (Corona)
เมฆอัลโตสเตรตัส (Altostratus)
มีลักษณะเป็นแผ่นหนา บางสม่ำเสมอในชั้นกลางของบรรยากาศ มองดูเรียบเป็นปุยหรือฝอยละเอียดแผ่ออกเป็นพืด เป็นลูกคลื่น ปกคลุมเต็มท้องฟ้า มีสีเทาหรือน้ำเงินอ่อน และอาจมีบางส่วนที่บางจนแสงอาทิตย์จะส่องผ่านลงมายังพื้นดินได้ อาจมีแสงทรงกลด (Corona)
เมฆแนวตั้ง (Vertical Clouds)
เมฆคิวมูลัส (Cumulus)
ลักษณะเป็นเมฆก้อนหนามียอดมนกลมคล้ายกะหล่ำดอก เห็นขอบนอกได้ชัดเจน ส่วนฐานมีสีค่อนข้างดำ ก่อตัวในทางตั้งกระจัดกระจายเหมือนสำลี ถ้าเกิดขึ้นเป็นหย่อมๆ หรือลอยอยู่โดดเดี่ยวแสดงถึงสภาวะอากาศดี ถ้ามีขนาดก้อนเมฆใหญ่ก็อาจมีฝนตกภายใต้ก้อนเมฆ ลักษณะเป็นฝนเฉพาะแห่ง
เมฆคิวมูโลนิมบัส (Cumulonimbus)
ลักษณะเป็นเมฆก้อนใหญ่รูปร่างคล้ายภูเขาใหญ่ มียอดเมฆแผ่ออกเป็นรูปร่างคล้ายทั่งที่ใช้ในการตีเหล็ก (anvil) ฐานเมฆต่ำมีสีดำมืด เป็นเมฆหนา มืดทึบ มีฟ้าแลบ ฟ้าร้อง อาจอยู่กระจัดกระจายหรือรวมกันอยู่ มักมีฝนตกลงมา เรียกเมฆชนิดนี้ว่า “เมฆฟ้าคะนอง”
เมฆระดับสูง (High Clouds)
เมฆเซอรัส (Cirrus)
มีฐานสูงเฉลี่ย 10,000 เมตร มีลักษณะเป็นฝอยปุยสีขาวเหมือนขนนกบางๆ หรือเป็นทางยาว และอาจมีวงแสง (Halo) ด้วย
เมฆเซอโรคิวมูลัส (Cirrocumulus)
มีฐานสูงเฉลี่ย 7,000 เมตร มีลักษณะเป็นเกล็ดบางๆ สีขาว หรือเป็นละอองคลื่นเล็กๆ อยู่ติดกัน บางตอนอาจแยกจากกันแต่จะอยู่เรียงรายกันอย่างมีระเบียบ โปร่งแสง อาจมองเห็นดวงอาทิตย์หรือดวงจันทร์ได้
เมฆเซอโรสเตรตัส (Cirrostratus)
มีฐานสูงเฉลี่ย 8,500 เมตร มีลักษณะเป็นแผ่นเยื่อบางๆ โปร่งแสงเหมือนม่านติดต่อกันเป็นแผ่นในระดับสูง มีสีขาวหรือน้ำเงินจางปกคลุมเต็มท้องฟ้าหรือเพียงบางส่วน เป็นเมฆที่ทำให้เกิดวงแสงสีขาวหรือมีวงแสง (Halo) รอบดวงอาทิตย์หรือดวงจันทร์ได้
เมฆระดับต่ำ (Low Clouds)
เมฆสเตรตัส (Stratus)
มีลักษณะเป็นแผ่นหนาๆ สม่ำเสมอในชั้นต่ำของบรรยากาศ ใกล้ผิวโลกเหมือนหมอก มีสีเทา มองไม่เห็นดวงอาทิตย์หรือดวงจันทร์ ไม่ทำให้เกิดวงแสง (Halo) เว้นแต่เมื่อมีอุณหภูมิต่ำมากก็อาจเกิดได้
เมฆสเตรโตคิวมูลัส (Stratocumulus)
มีสีเทา ลักษณะอ่อนนุ่ม เป็นก้อนกลมเรียงติดๆ กัน ทั้งทางแนวตั้งและทางแนวนอนทำให้มองเห็นเป็นลอนเชื่อมติดต่อกันไป
เมฆนิมโบสเตรตัส (Nimbostratus)
มีลักษณะเป็นแผ่นหนาสีเทาดำ เป็นแนวยาวติดต่อกันแผ่กว้างออกไป ไม่เป็นรูปร่าง เป็นเมฆที่ทำให้เกิดฝนตกจึงเรียกกันว่า เมฆฝน เมฆชนิดนี้จะไม่มีฟ้าแลบฟ้าร้อง เกิดเฉพาะในเขตอบอุ่นเท่านั้น