บทบาทความเป็นผู้นำของพระรามในรามเกียรติ์

บทที่2 แนวความคิด ทฤษฎี และวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง

-แนวความคิดเกี่ยวกับภาวะความเป็นผู้นำ
ภาวะความเป็นผู้นำได้มีผู้ศึกษาเรียกกันหลากหลาย เช่น ภาวะผู้นำความเป็นผู้นำหรือประมุขศิลป์หรือภาวะความเป็นผู้นำ แต่อย่างไรก็ตามคำนี้ก็มาจากรูปศัพท์ภาษาอังกฤษคำเดียวกัน คือ Leadership ภาวะผู้นำเป็นเรื่องที่สำคัญเพราะกิจกรรมต่างๆจะทำให้การดำเนินงานเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพต้องมีผู้ตามหรือสมาชิกภายในกลุ่มยอมรับในความเป็นผู้นำตามปัจจัยดังกล่าวผู้นำจึงจะสามารถใช้อำนาจและอิทธิพลเหนือผู้ตามการได้มาซึ่งอำนาจของผู้นำมีทั้งจากตัวบทกฎหมายบารมีเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารที่ดีและประสบความสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ

-แนวความคิดเกี่ยวกับบทบาทและหน้าที่ของผู้นำ
บทบาทและหน้าที่ของผู้นำมีผู้ให้ความเห็นมากมายจำเป็นที่คนเป็นผู้นำจะต้องหมั่นสำรวจตัวเองศึกษาเพิ่มพูนวิชาความรู้ในการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพทั้งนี้ด้านบทบาทและหน้าที่ของผู้นำจะเป็นตัวชี้วัดถึงผลสำเร็จหรือล้มเหลวของกลุ่มที่ตั้งเป้าหมายมุ่งหวังไว้ดังนั้นผู้นำควรมีหลักการทำงานและประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นตัวอย่างที่ดีเป็นที่ยอมรับของหมู่สมาชิกในกลุ่มด้วย

-แนวความคิดเกี่ยวกับบทบาทที่เป็นจริงและบทบาทที่คาดหวังเกี่ยวข้องอยู่ใน 3 ลักษณะคือ

1) บทบาทที่กำหนดไว้หรือบทบาทตามอุดมคติเป็นบทบาทที่มีการกำหนดสิทธิและหน้าที่ของตำแหน่งทางสังคมไว้

2) บทบาทที่คาดหวังเป็นบทบาทที่ต้องแสดงความคาดหวังในขณะเดียวกับเจ้าของสถานภาพนั้นก็สามารถที่จะรับรู้ว่าตนเองมีบทบาทอย่างไรและสามารถที่คาดหวังตัวเองว่าควรจะแสดงพฤติกรรมอย่างไรทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเหมาะสมที่สังคมคาดหวังและตนเองคาดหวัง

3) บทบาทที่เป็นจริงเป็นบทบาทที่เจ้าของสถานภาพแสดงจริงซึ่งอาจเป็นบทบาทที่สังคมคาดหวังหรือเป็นบทบาทที่ตนเองคาดหวังหรืออาจจะไม่เป็นบทบาทตามที่สังคมคาดหวังและตนเองคาดหวัง

-แนวการศึกษาวิจัยความเป็นผู้นำ
แนวคิดนี้มีสมมติฐานว่าเครื่องบ่งชี้คุณภาพของผู้นำก็คือคุณภาพของผู้ตามหรือวิธีที่ดีที่สุดในการประเมินผลคุณค่าของผู้นำก็คือการวิเคราะห์ผู้ตามจะเห็นได้ว่าแนวความคิดในการศึกษาผู้นำในลักษณะต่างๆจะใช้เกณฑ์ในด้านคุณสมบัติส่วนตัวของบุคคลลักษณะของผู้ตามหรือของกลุ่มตลอดจนสถานการณ์หรือสภาพแวดล้อม

-วรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง
จากการสำรวจวรรณกรรมและงานเขียนที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยพบว่าได้มีผู้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับภาวะผู้นำการเกิดภาวะผู้นำและการประยุกต์ใช้หลักธรรมทางพุทธศาสนาในการสร้างภาวะผู้นำซึ่งเป็นหลักปฏิบัติสำหรับผู้ปกครองตลอดจนสภาพการเมืองการปกครองของไทยในรามเกียรติ์โดยพิจารณาจากช่วงสมัยที่ได้ประพันธ์วรรณกรรมเรื่องนี้ขึ้นมาคือรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเนื่องจากวรรณกรรมเป็นภาพสะท้อนด้านหนึ่งของสังคมการเมืองความคิดและความรู้สึกทางการเมือง

บทที่ 3 วิธีการดำเนินงาน

-ประวัติของพระราม
อดีตชาติของพระรามก็คือพระนารายณ์ซึ่งตามคติของอินเดียแล้วถือว่าเป็นพระผู้เป็นเจ้าหรือเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่มีอยู่ 3 พระองค์ คือ พระพรหม พระอิศวร พระนารายณ์แต่ละพระองค์ก็มีลักษณะเด่นแตกต่างกันไปพระพรหมเป็นผู้สร้างโลก พระอิศวร (พระศิวะ) เป็นผู้ทำลายโลก สำหรับพระนารายณ์นั้นจะเป็นผู้รักษาโลกซึ่งเป็นผู้ที่มีความเก่งกล้าในการรบและปราบอธรรมในเรื่องรามเกียรติ์นี้พระนารายณ์อวตารลงมาเป็นมนุษย์ชื่อว่าพระรามเพื่อปราบทศกัณฐ์โดยพระรามถือเป็นปางหนึ่งในจำนวนสิบปางของการอวตารของพระนารายณ์

บทที่ 4 ผลการวิเคราะห์ข้อมูล

-การวิเคราะห์บทบาทความเป็นผู้นำของพระราม
ในกรณีการใช้อำนาจของพระรามนั้นซึ่งตรงกับลักษณะของอำนาจที่ผู้นำได้รับ 2 ประเภทเท่านั้น ได้แก่ อำนาจตามธรรมเนียมประเพณี (Traditional Authority) และ อำนาจบารมี (Charismatic Authority)

-บทบาทด้านการปกครอง
ลักษณะหรือรูปแบบการปกครองในรามเกียรติ์เป็นการปกครองแบบราชาธิปไตยคือการปกครองโดยผู้มีอำนาจสูงสุดเพียงผู้เดียวโดยผู้ปกครองเป็นผู้ที่มีคุณธรรม และปกครองตามแบบเทวสิทธิ์ซึ่งถือว่ารัฐเกิดขึ้นมาจากสภาวะอันศักดิ์สิทธิ์ (divine origin) คือเทพยดาหรือผู้อยู่เหนือมนุษย์และถือว่าผู้นำมีสิทธิโดยชาติกำเนิดที่จะปกครองสิทธิโดยชาติกำเนิดนี้อ้างว่าเพราะมีบุญญาธิการอยู่ในสายเลือดแห่งต้นตระกูลผู้ที่จะเป็นผู้มีเชื้อสายจะต้องเป็นผู้ที่ได้รับการรับรองจากอำนาจอันศักดิ์สิทธิ์ว่าเป็นผู้ที่เหมาะสมในตำแหน่งหน้าที่

-บทบาทด้านการบริหาร
ถ้าจะรบกันตัวต่อตัวพระรามคงไม่มีทางเอาชนะได้ แต่ข้อเท็จจริงแล้วในการรบทุกครั้งพระรามมักจะเป็นฝ่ายชนะอยู่เสมอ ๆ เพราะพระรามเป็นนักบริหารที่ดีเป็นนักวางแผนที่ดีและนักมอบหมายงานที่ดีซึ่งทำให้สามารถรบชนะทศกัณฐ์ได้โดยเข้ากับหลักการบริหารราชการสมัยใหม่ที่นักวิชาการเรียกว่าโพสคอป (POSDCORB) มาจากหัวข้อต่างๆ ดังนี้

1. การวางแผน (Planning)

2. การกำหนดหน่วยงาน (Organizing)

3. การบรรจุคนให้เหมาะสมกับงาน (Staffing)

4. การสั่งงาน (Directing)

5. การประสานงาน (Co-ordinating)

6. การรายงาน (Reporting)

7. การคลัง (Budgeting)

-บทบาทด้านความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ
ในสมัยการปกครองของพระรามนั้นเมืองอโยธยาสามารถขยายและแผ่อำนาจได้มากที่สุด การขยายอำนาจเกิดขึ้นหลายวิธีด้วยกัน ดังนี้

1. ผู้อื่นยอมอ่อนน้อมเอง

2. การแต่งงานระหว่างเมือง

3. การทำสงคราม

4. การเรียกร้องความอ่อนน้อม

บทที่ 5 ผลการศึกษา

พบว่าการเกิดภาวะความเป็นผู้นำของพระรามนั้นมีลักษณะของผู้นำที่ยิ่งใหญ่ตามทฤษฎีมหาบุรุษซึ่งเป็นลักษณะพิเศษที่เหนือกว่าคนทั่วไปและเป็นผู้มีบุญญาธิการ เช่น การเป็นพระนารายณ์อวตาร สิ่งเหล่านี้เป็นลักษณะของบุคลิกภาพทางด้านร่างกาย ส่วนบุคลิกภาพทางด้านจิตใจพระรามเป็นผู้ที่มีเชาวน์ปัญญาและเชาวน์อารมณ์ที่ดีมีความเมตตากรุณา ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่เหมาะสมต่อการเป็นผู้นำ

บทคัดย่อ

วัตถุประสงค์

เพื่อศึกษาถึงแนวความคิดและปรากฏการณ์ทางการเมืองที่มีอิทธิพลต่อเรื่องรามเกียรติ์บทบาทผู้นำของพระรามและแนวความคิดเกี่ยวกับผู้นำที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับสถานการณ์และพฤติกรรมของตัวละครในรามเกียรติ์คือพระราม

ผลการศึกษา

พบว่าการเกิดภาวะความเป็นผู้นำของพระรามนั้นมีลักษณะของผู้นำที่ยิ่งใหญ่ตามทฤษฎีมหาบุรุษซึ่งเป็นลักษณะพิเศษที่เหนือกว่าคนทั่วไปและเป็นผู้มีบุญญาธิการ เช่น การเป็นพระนารายณ์อวตาร สิ่งเหล่านี้เป็นลักษณะของบุคลิกภาพทางด้านร่างกาย ส่วนบุคลิกภาพทางด้านจิตใจพระรามเป็นผู้ที่มีเชาวน์ปัญญาและเชาวน์อารมณ์ที่ดีมีความเมตตากรุณา ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่เหมาะสมต่อการเป็นผู้นำ บทบาทความเป็นผู้นำของพระรามสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ด้าน คือ ด้านการปกครอง ด้านการบริหารและด้านความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ

วิธีดำเนินการศึกษา

เป็นการศึกษาข้อมูลในเชิงพรรณนา (descriptive approach)

บทที่ 1 บทนำ

ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์คือหลักศิลาจารึกสมัยสุโขทัยทำให้ทราบว่าคนไทยรู้จักเรื่องรามเกียรติ์หรือเรื่องของพระรามมาตั้งแต่ยังไม่มีอักษรใช้ในการเขียนซึ่งสันนิษฐานได้ว่าเรื่องรามเกียรติ์เป็นที่รู้จักของคนไทยจากงานการแสดงและมุขปาฐะ เรื่องรามเกียรติ์ที่สามารถนำมาถ่ายทอดเป็นเรื่องราวต่อเนื่องตั้งแต่ต้นจนจบโดยบริบูรณ์และแสดงรายละเอียดได้ชัดเจนแน่นอนจึงเป็นเรื่องรามเกียรติ์ที่ได้รับการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรที่เรียกว่า“ วรรณกรรม” ซึ่งวรรณกรรมที่นำเสนอเรื่องรามเกียรติ์ได้เป็นฉบับสมบูรณ์มากที่สุดของไทยคือวรรณกรรมบทละครเรื่องรามเกียรติพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเป็นวรรณกรรมหลักที่จะนำมาใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ดังนั้นผู้ศึกษาวิจัยจึงมีความสนใจที่จะศึกษาประวัติของพระรามในรามเกียรติ์บทบาทและการใช้ภาวะความเป็นผู้นำของพระรามโดยการศึกษาวิจัยครั้งนี้จะสะท้อนให้เห็นภาพการเมืองการปกครองของไทยในอดีตซึ่งจะนำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนาศักยภาพของผู้นำไทยในปัจจุบันและอนาคตได้โดยผู้นำจะได้ใช้ความรู้เกี่ยวกับทฤษฎีภาวะผู้นำที่ปรากฏอยู่ในตัวพระรามซึ่งเป็นตัวละครตัวหนึ่งในเรื่องโดยนำไปประยุกต์ใช้เพื่อเป็นแนวทางในการบริหารคนในระดับปัจเจกบุคคลระดับท้องถิ่นและระดับชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ

วัตถุประสงค์ของการศึกษา

1. เพื่อศึกษาแนวความคิดและปรากฏการณ์ทางการเมืองที่มีอิทธิพลต่อเรื่องรามเกียรติ์
2. เพื่อศึกษาบทบาทผู้นำของพระรามในเรื่องรามเกียรติ์
3. เพื่อศึกษาทฤษฎีและแนวความคิดเกี่ยวกับผู้นำที่สามารถประยุกต์ใช้กับสถานการณ์และพฤติกรรมของตัวละครในรามเกียรติ์คือพระราม

ขอบเขตของการศึกษา

มีกรอบในการศึกษามุ่งเน้นที่การศึกษาวิเคราะห์ทฤษฎีความเป็นผู้นำ (Leadership theory) โดยใช้รามเกียรติ์ฉบับพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1 เป็นหลักสำหรับการตีความในด้านรัฐศาสตร์การตีความหมายด้วยการใช้วิธียกบทประพันธ์ขึ้นเปรียบเทียบและการศึกษาสภาพเหตุการณ์ในรัชกาลที่ 1 หรือเหตุการณ์ก่อนหน้าและหลังจากนั้นเพื่อเทียบเหตุการณ์ในรามเกียรติในเชิงเปรียบเทียบสะท้อนภาพสังคมและการเมือง

วิธีดำเนินการศึกษา

เป็นการศึกษาข้อมูลในเชิงพรรณนา (descriptive approach) ซึ่งประกอบไปด้วยข้อมูลที่เป็นเอกสาร (documentary research) โดยการตีความทางรัฐศาสตร์แบบสหวิทยาการซึ่งต้องอาศัยความสัมพันธ์ในเชิงจิตวิทยาสังคมวิทยาและโบราณคดีเป็นต้นและนำเข้าสู่ปัญหาโดยวิธีการทางประวัติศาสตร์ (Historical Approach) และการวิเคราะห์โดยสาระ (Content Analysis)

ประโยชน์ที่ได้รับจากการวิจัย

1. ทำให้ทราบแนวความคิดและปรากฏการณ์ทางการเมืองที่มีอิทธิพลต่อเรื่องรามเกียรติ์

2. ทำให้ทราบบทบาทผู้นำของพระรามในเรื่องรามเกียรติ์

3. ทำให้ทราบถึงทฤษฎีและแนวความคิดเกี่ยวกับผู้นำที่สามารถประยุกต์ใช้กับสถานการณ์และพฤติกรรมของตัวละครในรามเกียรติคือพระราม

4. ทำให้เกิดความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับความเป็นผู้นำโดยผ่านตัวละครเรื่องรามเกียรติคือพระราม

5. ทำให้ทราบวิธีการใช้ความเป็นผู้นำในการสร้างและรักษาอำนาจทางการปกครองของพระราม

ข้อเสนอแนะ

1. ควรมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมในด้านภาพลักษณ์และบทบาทความเป็นผู้นำของตัวละครอื่น ๆ ในเรื่องรามเกียรตินอกเหนือไปจากพระราม

2. ศึกษาเปรียบเทียบบทบาทความเป็นผู้นำของพระรามและทศกัณฐ์ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไรจะเป็นการสะท้อนภาพผู้นำที่เป็นแบบอย่างทั้งในทางที่ดีและไม่ดี

3. การทำความเข้าใจแนวความคิดและปรากฏการณ์ทางการเมืองในวรรณกรรมได้อย่างเป็นระบบมากขึ้นนั้นควรมีการศึกษาเปรียบเทียบบทบาทความเป็นผู้นำของตัวละครเด่นๆ ในเรื่องรามเกียรติ์