Insomnia : โรคนอนไม่หลับ
สาเหตุ
ปัจจัยทางด้านร่างกาย
มีอาการเจ็บป่วยของโรคอยู่แล้ว หรือเจ็บปวดตามจุดและอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย จึงทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับแทรกซ้อน โดยผู้ที่เป็นโรคนี้จะหยุดหายใจเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ และตื่นขึ้นมาเรื่อย ๆในขณะนอนหลับ อาจทำให้ผู้ป่วยตื่นขึ้นกลางดึก นอนหลับไม่สนิทหรือนอนไม่หลับอีกเลยได้เช่นกัน
ปัจจัยทางด้านจิตใจ
มีความเครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า หดหู่ ดีใจ หรือตื่นเต้นประหม่าเกิดเป็นความเครียด จนเกิดการเปลี่ยนแปลงของสารสื่อประสาทในร่างกาย ทำให้ไม่สามารถนอนหลับตามปกติได้
ปัจจัยภายนอก
มีสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมมารบกวนประสาทสัมผัสในขณะนอนหลับ เช่น เสียงดังรบกวน แสงที่สว่างจ้า และการรับรู้กลิ่นต่าง ๆ ที่มากจนรบกวนสภาวะผ่อนคลายก่อนการนอนหลับ และการเข้ารับการรักษาบางชนิดก็มีผลให้ผู้ป่วยเกิดความเจ็บปวดจนนอนไม่หลับ เช่น การทำเคมีบำบัด (Chemotherapy)
ปัจจัยอื่น ๆ
อาจเกิดจากลักษณะนิสัยเฉพาะตัว การนอนผิดเวลาไปจากเวลาปกติที่ร่างกายคุ้นเคย การกินอาหารที่มากเกินไปก่อนนอนทำให้นอนหลับไม่สบายตัว การดื่มและใช้สารเสพติดที่มีสารกดประสาททำให้นอนไม่หลับ รวมทั้งการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะมีฤทธิ์กระตุ้นให้นอนหลับไม่สนิทหรือตื่นขึ้นมากลางดึกได้
อาการ
นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย ใช้เวลานานกว่าจะนอนได้
หลับยาก นอนดึก ตื่นสาย
นอนหลับ ๆ ตื่น ๆ รู้สึกตัว ตื่นขึ้นกลางดึก
ตื่นแล้วไม่สามารถนอนหลับต่อไปได้อีก
อ่อนล้า หมดแรง ไม่สดชื่นกระปรี้กระเปร่า
ง่วงนอนตลอดเวลาในตอนกลางวัน นอนไม่หลับในตอนกลางคืน
ร่างกายอ่อนเพลีย ต้องการการพักผ่อน แต่ก็ยังนอนไม่หลับ
ไม่มีสมาธิ ทำงานผิดพลาด ความจำไม่ดี
การรักษา
การรักษาด้วยตนเอง
เข้านอนและตื่นนอนตามเวลาเดิมเป็นประจำ นอนหลับให้เพียงพอตามกับความต้องการตามวัยของตน หลีกเลี่ยงการหมกมุ่นอยู่กับความคิดฟุ้งซ่าน ความเครียดและความวิตกกังวล ทำกิจกรรมที่ผ่อนคลายก่อนเข้านอน รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ งดเว้นเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
การรักษาด้วยยา
โดยยาบางชนิดต้องใช้ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของแพทย์และสั่งยาโดยแพทย์เท่านั้น ยาที่ใช้จะอยู่ในกลุ่มยาเมลาโทนิน (Melatonin) ซึ่งเป็นยาที่ใช้เพื่อเพิ่มระดับฮอร์โมนเมลาโทนิน มักใช้เมื่อเกิดปัญหาการปรับตัวไม่ทันเมื่อข้ามเขตเวลาโลก (Jet Lag) Antidepressants หรือยาต้านเศร้า และ Antipsychotics หรือยารักษาอาการทางจิต ช่วยผ่อนคลายและลดอาการวิตกกังวล ทำให้นอนหลับง่ายและหลับสนิท โดยจะใช้เมื่อมีข้อบ่งชี้ของภาวะซึมเศร้าหรืออาการทางจิตที่เกิดขึ้นร่วมกับการนอนไม่หลับเท่านั้น Benzodiazepines หรือยานอนหลับที่มีฤทธิ์ช่วยคลายเครียด คลายกล้ามเนื้อ ช่วยให้นอนหลับลึกและยาวนาน
การบำบัดและการรักษาทางการแพทย์
ประกอบด้วยการวัดระดับความรุนแรงของอาการด้วยเครื่องมือและแบบทดสอบทางการแพทย์ การให้คำปรึกษา การบำบัดด้วยวิธีต่าง ๆ เพื่อให้เกิดภาวะผ่อนคลาย เช่น ดนตรีบำบัด วารีบำบัด การบำบัดแบบปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy)
การป้องกัน
ปรับพฤติกรรมการนอน
เข้านอนให้เป็นเวลา ไม่งีบหลับในระหว่างวัน และนอนเมื่อง่วงนอน ไม่พยายามกดดันตัวเองเพื่อให้นอนหลับ เพราะจะเกิดผลข้างเคียงเป็นความวิตกกังวลและทำให้นอนหลับยากยิ่งขึ้น แต่ควรหากิจกรรมที่ผ่อนคลายทำก่อนนอน เช่น การอ่านหนังสือ ฟังเพลงเบา ๆ
เปลี่ยนสภาพแวดล้อมให้มีความผ่อนคลาย
จัดห้องใหม่ให้อากาศถ่ายเทสะดวก กำจัดสิ่งรบกวนในบริเวณห้อง หรือย้ายที่พักไปสู่สภาพแวดล้อมที่สงบ สบาย และน่าอยู่อาศัย
ลดความตึงเครียดจากการใช้ชีวิตประจำวัน
หลีกเลี่ยงความขัดแย้งอันเป็นที่มาของการเกิดความเครียด เปลี่ยนมุมมองใหม่ให้ชีวิต คิดในแง่บวก มองหาความสุขง่าย ๆ จากสิ่งรอบตัว เข้าใจชีวิต และรู้จักการปล่อยวาง