การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอย่างปลอดภัย

การทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์อย่างปลอดภัย

การทำธุรกรรมโดยตรงระหว่างผู้ขายและผู้ซื้อ-ทำธุรกรรมผ่านเครือข่ายทางสังคมหรือผ่านเว็บไซต์ของผู้ขาย เช่น การจองที่พักโรงแรม, ซื้อสินค้าจากเว็บไซต์ผู้ผลิตโดยตรง

การทำธุรกรรมโดยผ่านผู้ให้บริการ – ทำธุรกรรมผ่านผู้ให้บริการสนับสนุนการดำเนินการหรือตัวกลาง โดยผู้ให้บริการจะรวบรวมสินค้าและบริการต่างๆ ให้อยู่ในที่เดียว เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าถึงและใช้บริการทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ผู้ให้บริการ (ตัวกลาง) คอยตรวจสอบผู้ขายและรับประกันในส่วนของสินค้าและบริการ เช่น ebay.com, lazada.co.th, shopee.co.th

สิ่งที่ผู้ใช้บริการต้องคำนึงถึงในการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์คือ อาจถูกมิจฉาชีพฉ้อโกง โดยใช้กลยุทธ์เรื่องราคาและหลักจิตวิทยาในการล่อลวงให้เกิดความโลภ หรือเข้าใจผิด เช่น ขายสินค้าในราคาที่ต่ำกว่าปกติมาก ขายสินค้าเลียนแบบโดยให้เข้าใจว่าเป็นสินค้าของแท้

ผู้ใช้บริการควรมีความระมัดระวังในการเลือกชำระค่าสินค้าหรือบริการ ซึ่งมีหลายรูปแบบ เช่น
โอนค่าสินค้าผ่านธนาคาร แล้วส่งหลักฐานยืนยันให้ผู้ขายส่งสินค้าในภายหลัง
ชำระเงินภายหลังจากได้รับสินค้า (เก็บเงินปลายทาง)

ชำระผ่านบัตรเครดิตหรือบัญชีธนาคาร ซึ่งต้องใช้หมายเลขบัตร วันหมดอายุ รหัสยืนยันบัตร (Card Verification Value: CVV) การยืนยันรหัสการทำธุรกรรมโดยใช้รหัสผ่านครั้งเดียว (One Time Password: OTP)

ชำระผ่านตัวกลางชำระเงิน เช่น ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ รับชำระเงินโดยเติมเงินเข้ากับบัญชีที่ผูกเข้ากับหมายเลขโทรศัพท์ สามารถทำธุรกรรมได้เสมือนบัญชีธนาคาร

การรู้เท่าทันสื่อ

การรู้เท่าทันสื่อ หมายถึง ความสามารถในการป้องกันตนเองจากการถูกโน้มน้าวด้วยเนื้อหาที่เป็นเท็จและมีผลกระทบต่อผู้รับสื่อ เพื่อไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือทางการตลาดหรือผลประโยชน์ที่นำเสนอ การรู้เท่าทันสื่อ ผู้รับสารต้องสามารถตีความ วิเคราะห์ แยกแยะเนื้อหาสาระของสื่อ คิดก่อนนำไปเผยแพร่

การรู้เท่าทันสื่อสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับ

ตระหนักถึงความสำคัญของการเลือกและจัดสรรเวลาในการใช้สื่อ

เรียนรู้ทักษะการรับสื่อแบบวิพากษ์ วิเคราะห์และตั้งคำถามว่าสื่อนั้นถูกสร้างขึ้นอย่างไร น่าเชื่อถือหรือไม่

วิเคราะห์สื่อในเชิงสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมอย่างสร้างสรรค์

ข่าวลวงและผลกระทบ

ข่าวลวง (fake news) เป็นรูปแบบหนึ่งของการก่อกวน ซึ่งนำเสนอเรื่องราวเป็นเท็จ มีวัตถุประสงค์แอบแฝงที่แตกต่างกัน เช่น เพื่อขายสินค้า ทำให้เข้าใจผิด สร้างความสับสน โดยข่าวลวงอาจแพร่ผ่านอีเมล์ หรือเครือข่ายทางสังคม ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อบุคคล เศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง
ผู้รับข่าวสารต้องมีวิจารณญาณเพื่อป้องกันตนเองและผู้อื่น ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของข่าวลวง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อตนเองและสังคม

ลักษณะของข่าวลวง

สร้างเรื่องราวเพื่อเป็นจุดสนใจในสังคม

สร้างความหวาดกลัว

กระตุ้นความโลภ

สร้างความเกลียดชัง

ส่งต่อกันผ่านเครือข่ายทางสังคม

ไม่ระบุแหล่งที่มา

ขยายความต่อจากอคติของคนทั่วไปที่มีอยู่ก่อนแล้ว เพื่อหวังให้ตนเองได้รับผลประโยชน์ หรือใช้โจมตีคู่แข่ง